ญี่ปุ่น 2014

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ มีประชากรราว 200 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เป็นภูเขาทำให้ประชากรส่วนใหญ่กระจายกันอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ หลายแห่ง ทำให้การเจริญเติบโตของเมืองเป็นไปแบบก้าวกระโดด อาคารบ้านเรือน วงจรการใช้ชีวิตเป็นไปด้วยกำลังซื้อที่สูงทำให้การบริการสาธารณะหลาย ๆ อย่างสามารถดำเนินไปด้วยความสมบูรณ์ การพัฒนาด้านวัตถุมีพลวัตรตลอดเวลาแต่ในขณะที่การพัฒนาทางด้านจิตใจไม่ได้ด้อยกว่ากันเลย ความเอารัดเอาเปรียบ การแซงคิว ไม่ค่อยจะเห็นในประเทศนี้ แม้แต่การขึ้นบันไดเลื่อน ทุกคนจะยืนชิดซ้ายตลอดและเว้นช่องด้านขวามือไว้สำหรับคนเร่งด่วน แม้แรก ๆ ไม่คุ้นเคย แต่เพียง 1-2 วันก็สามารถปรับตัวได้

การเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการเดินทางมาเป็นหมู่คณะ แต่ก็พยายามสังเกตุวิถีชิวิตของคนญี่ปุ่นตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ไป แรก ๆ ก็สงสัยว่าทำไมประเทศนี้ถึงได้พัฒนามากเหลือเกิน ทั้งที่จุดเริ่มต้นของประเทศในหลาย ๆ ประเทศแต่ทำไมประเทศนี้มีการพัฒนาเยอะมาก และนับวันก็มีการก้าวกระโดดของการพัฒนาไปไกลยิ่งขึ้น

เมื่อถึงญี่ปุ่นในวันแรก ความไม่คุ้นเคยจากเมืองไทยทำให้ผมรู้สึกได้ว่าเป็นความแตกต่างอย่างแรก และเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดนั่นคือเรื่องของ “เวลา” เวลาในญี่ปุ่นเท่ากับทุกแห่งในโลกนี้ แต่ญี่ปุ่นใช้เวลาเป็นประโยชน์มาก ทุกคนเคารพเวลาของคนอื่น ๆ การมาสาย ผิดเวลาแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ระบบการขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถบัส รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูงจะตรงเวลาแทบจะนับนาทีได้เลย ระบบรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินของคนญี่ปุ่น มีความสลับซับซ้อนมาก ต้องใช้เวลานานนับชั่วโมงเพื่อทำความเข้าใจกับระบบขนส่งมวลชนของเมืองโตเกียว เมื่อเข้าใจแล้ว การเดินทางในโตเกียวจะพบว่าสะดวกมาก ชีวิตของคนญี่ปุ่นจะเกี่ยวข้องกับเวลาตลอดทั้งชีวิต ตรงนี้เองที่เป็นเหตุผลของความมีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่น “ความตรงต่อเวลานำมาซึ่งความมีวินัยในการใช้ชีวิต” เวลาผ่านไปสองสามชั่วอายุคนยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นผูกติดกับเวลาและความมีวินัยมาตลอดจนเรียกได้ว่าชนชาตินี้เป็นชนชาติที่มีวินัยมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

การรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงาน และการไม่เลือกงานเป็นปัจจัยที่สองที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาประเทศเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ในวันที่ผมได้ใช้บรืการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ บังเอิญมีเรื่องที่ต้องเข้าห้องน้ำ เมื่อเข้าไปในห้องน้ำไดเหลือบเห็นหญิงวัยกลางคนค่อนข้างสูงอายุสักหน่อยนั่งก้มถู ขัด โถปัสสาวะของผู้ชายอยู่ด้วยความขยันขันแข็ง พลางทำให้ฉุกคิดได้ว่า หากเป็นประเทศไทยแล้ว คงต้องไม่สามารถทำหน้าที่แบบที่ตาเห็นได้ง่าย ๆ นอกจากต้องทำยามค่ำคืนที่ไม่มีคนอยู่ หรือไม่คงจะต้องเป็นงานที่ต้องนำเข้าแรงงานแถบประเทศเพื่อนบ้านของเรามาทำแทน ผมได้มองแล้วก็สะท้อนในการรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ และไม่เกี่ยวแย่งแบ่งงาน และลักษณะแบบนี้มีให้เห็นอย่างทั่วไป รวมแม้กระทั่งพนักงานยกกระเป๋ของรถบัสที่แต่งกายอย่างภูมิฐานเสมือนหนึ่งคล้ายพนักงานต้อนรับชายบนเครื่องบิน และเป็นไปด้วยความสุภาพอ่อนโยนยิ่ง โดยภาพที่เห็นเหล่านี้ไม่ค่อยเห็นในบริการระดับธรรมดาชาวบ้านทั่วไปในไทย ยกเว้นการให้บริการระดับสูงที่มีค่าบริการสูง

นาฬิกาชีวิตทำงานอย่างถูกต้อง เรื่องนาฬิกาชีวิตนั้น เป็นเรื่องของช่วงเวลาและภาระหน้าที่ล้วน ๆ ในประเทศญี่ปุ่นมีการเดินทางของนาฬิกาที่สอดคล้องถูกต้องกับความต้องการของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางวันและใช้เวลากลางคืนเป็นการพักผ่อน บนท้องถนนหลังสามทุ่มในประเทศญี่ปุ่นการจราจรบนถนนเริ่มเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด แปลว่าผู้คนส่วนใหญ่ในเวลานั้นเริ่มพักผ่อนหรืออยู่ในที่พักอาศัยแล้ว ผู้ใหญ่ก็พักผ่อน เด็ก ๆ ก็ทบทวนตำรา ครอบครัวก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นต่าง ๆ ตลอดจนสั่งสอนซึ่งกันและกัน ผมก็นำมาเปรียบเทียบกับชีวิตหลังสี่ทุ่มของประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน วัยทำงานยังอยู่บนโต๊ะอาหาร วัยนักเรียก วัยรุ่นก็ยังอยู่บนท้องถนนหรือบนโต๊ะอาหาร กว่าจะกลับเข้าบ้านได้ก็เลยเวลาพักผ่อนไปมากแล้ว ตรงนี้ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ระบบการพัฒนาทางการเรียน และครอบครัวอ่อนด้อยไปกว่าหลาย ๆ ประเทศ อาจจะมองเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็เป็นปัญหาทางสังคมในระยะเวลาต่อมาได้เช่นกัน

ระบบอัตโนมัติ เป็นระบบที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นอย่างแพร่หลาย ด้วยความที่ทุกคนมีข้อจำกัดเรื่องเวลา และค่าแรงงานสูงมากทำให้การจ้างแรงงานมาขายสินค้าหาได้น้อยมาก การเลือกซื้อเครื่องดื่ม ขนมทานเล่น หรือยาสูบมีเพียงเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติเท่านั้น แต่ในร้านสะดวกซื้อก็มีจำหน่ายตามปรกติเช่นกัน สำหรับร้านสะดวกซื้อหากจะซื้อยาสูบก็จะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น คือผู้ซื้อจะต้องกดยืนยันอายุของผู้ซื้อบนหน้าจอก่อนชำระเงินด้วย มิฉะนั้นผู้ขายจะไม่ขายบุหรี่ให้ สำหรับระบบอัตโนมัตนั้นผมประทับใจเครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำมาก การเดินทางในครั้งนี้เปลี่ยนใช้บริการหลายโรงแรม ทำให้เห็นระบบชำระอัตโนมัติหลายแบบ มีโรงงแรมที่ผมเดินทางไปพักที่เมืองนาโกย่า เป็นโรงแรมที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็ต้องแปลกใจกับระบบชำระที่ปรกติจะใช้วิธีกดปุ่มชำระด้านข้างของเครื่องสุขภัณฑ์ แต่ที่นี่กลับเป็นเครื่องรีโมทที่ติดอยู่ข้างผนังในห้องน้ำ เป็นระบบชำระอัตโนมัติที่ใช้รีโมทควบคุม เป็นความล้ำสมัยที่มนุษย์พึงบรรจงมอบให้มนุษย์ด้วยกันเกิดความสบายอย่างสูงสุดจริง ๆ รุ่นต่อไปคงเป็นระบบที่ใช้โทรจิตสั่งการเป็นแน่แท้

ระบบอาหาร ในประเทศญี่ปุ่นมีระบบอาหารอยู่เพียง 5 ชนิดหลัก ๆ คือ ของดิบเช่นซาชิมิต่างๆ ของทอด เช่นทงคัทสึต่าง ๆ ของต้มเช่นราเมนและโอเด้ง ของย่าง เช่นเทอริยากิทั้งหลาย และข้าวแกงกะหรี่หน้าต่าง ๆ ด้านสนนราคานั้น อาหารกลุ่มซาชิมิ จะมีราคาแพงที่สุด อาหารประเภทราเมนและข้าวแกงกะหรี่จะมีราคาไม่แพง และหากเป็นร้านที่ยืนทานและต้องหยอดเหรียญกดปุ่มเลือกเมนูอาหารและยื่นคูปองไปให้แม่ครัวทำให้แล้วยิ่งถูก คำว่าถูกของคนญี่ปุ่นนั้นอาจจะดูเหมือนแพงเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารไทย ที่มีราคาหลัก 40-60 บาทต่อเมนู แต่เวลาเทียบราคาอาหารนั้นวิธีการที่ถูกต้องจะต้องเปรียบเทียบกับรายได้ต่อหัวต่อวันประกอบด้วย จะยิ่งทำให้รู้สึกได้ว่าอาหารของไทยกลับแพงมากกว่า เนื่องจากปริมาณของอาหารที่เสิร์ฟนั้นในประเทศญี่ปุ่นสั่งเพียงเมนูเดียวก็อิ่มได้ทันที แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยในเมนูที่สั่งมาทานนั้น หลายครั้งจะต้องสั่ง 2 รายการถึงจะอิ่มได้

ภาพรวมของประเทศญี่ปุ่น นั้น การมีกำลังซื้อที่สูงมากย่อมสร้างผลทางด้านเศรษฐกิจได้มากเช่นกัน กล่าวคือ แม้ภาคการผลิตแม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ระบบการผลิตที่พัฒนาประกอบกับการนำเครื่องจักรมาใช้ช่วยในการผลิต(เช่น อุตสาหกรรมเซรามิค)ก็ยังสามารถรักษาระดับของต้นทุนที่ยังสามารถผลิตได้ และเมื่อผลิตได้ สามารถจำหน่ายในประเทศได้ด้วยกำลังซื้อของประชากรที่สูงแล้ว ก็แปลว่าระบบเศรษฐกิจยังสามารถเดินหน้าไปได้แม้จะไม่เติบโตเท่าจีนแต่กำลังความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจน่าจะยังคงนำพาให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกต่อไปอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณ ข้อมูลดีๆจากคุณอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ ด้วยครับ