ชีวิตนี้…เพื่อ..เซรามิก

55 ปี กับชีวิตการทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับอาชีพการทำเซรามิก เรียกได้ว่าเกือบทั้งชีวิตบุกเบิกมากับการทำเซรามิก สิ่งที่จำได้ขึ้นใจของคุณสุวิช นภาวรรณ คือ

ล้มแล้วต้องลุก ทุกลมหายใจของเขาไม่มีคำว่า “แพ้”

 ความเป็นมาของเซรามิกไทย

เซรามิกในประเทศไทยเริ่มทำขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2484 ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ทำคือผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องขาว (เซรามิกที่มีสีขาว) ก่อนหน้านั้นยังไม่นับกระถางต้นไม้โอ่ง เป็นเซรามิก แรกเริ่มได้สั่งดินขาวจากประเทศจีนเข้ามาทำ ในขณะนั้นประเทศจีนห้ามส่งออกวัตถุดิบ (ดิน) แต่ก็ยังสั่งเข้ามาปะปนกับถ้วยชาม ทำได้อยู่พักหนึ่งตอนนั้นไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันน้อยมาก เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้ต้องหยุดสั่งวัตถุดิบจากจีน หันมาใช้วัตถุดิบในไทย ดินตัวแรกที่ใช้คือดินที่สัตหีบ ตอนหลังใช้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตทหารเรือ จึงต้องเลิกใช้ดินที่นั่น เปลี่ยนมาใช้ดินท่าใหม่จันทบุรีที่เขาป่าแดง และได้เปลี่ยนมาใช้ดินเหนียวที่นครนายก หลังจากนั้นมาพบดินที่จังหวัดลำปางเมื่อ พ.ศ. 2502 นับได้ว่าเป็นก้าวใหม่ของการทำเซรามิกเกิดขึ้นมากมายในจังหวัดลำปาง เรียกได้ว่าผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเลยก็ว่าได้

จุดเริ่มต้นของการทำเซรามิก

ชีวิตการทำงานของผมมีการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง เรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลานมากับการทำเซรามิกโดยตลอด เมื่อก่อนครอบครัวมีอาชีพการทำเซรามิก คุณพ่อเป็นช่างเขียนลายชามตราไก่มาจากเมืองจีน มีความชำนาญในการเขียนลายมาก มาเริ่มต้นทำเซรามิกในประเทศไทย เขียนลายชามตราไก่เป็นรุ่นแรกที่โรงงานเฮงเล็ง ปัจจุบันคือบริเวณสะพานซังฮี้ด้านฝั่งธนบุรี เตาเผาเป็นเตามังกร ใช้ฟื้นเป็นเชื้อเพลิง ผลิตชามตราไก่ แจกัน กระถางต้นไม้ ชามลายดอกโบตั๋น เป็นต้น ทำอยู่ได้ไม่นานก้ออกมาตั้งเตาเผาอยู่ที่ราชเทวี ในขณะเดียวกันก็มีช่างจีนที่ออกมาตั้งโรงงานของตัวเองที่ราชบุรีพร้อมๆกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำเซรามิก

กว่าที่จะมาตั้งโรงงานที่จังหวัดลำปาง ผมเริ่มจากการเป็นพนักงานบัญชีร้านไทยอุตสาหกรรมสามยอด เป็นร้านค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อ พ.ศ. 2484 การทำงานของผมเริ่มต้นจากจุดนี้ก่อน จากนั้นก็ออกมาตั้งโรงงานทำกระเบื้องเคลือบอยู่ที่สี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ตอนนั้นถนนหนทางยังไม่ใหญ่โตขนาดนี้และที่ดินแถบนั้นยังคงเป็นสวน อยู่ได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อแม่ของผมหนีภัยไปอยู่ที่อื่น ส่วนตัวผมยังทำต่อค่อนข้างทุลักทุเลมาก เผาแต่ละครั้งกลัวเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเพราะเป็นโรงงานเดียวที่ทำอยู่ขณะนั้น ไม่มีใครกล้าทำเพราะกลัวถูกทิ้งระเบิด

เมื่อความเจริญเข้ามา ผมจึงได้ย้ายไปอยู่ที่คลองตัน ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2485 และหยุดกิจการเพราะที่ดินถูกเวนคืนทำถนนเพชรบุรีตัดใหม่ใน พ.ศ. 2498 (ปัจจุบันที่ดังกล่าวเป็นตัวตึกอิตัลไทย) ในปี พ.ศ. 2497 มาทำงานเป็นผู้ชำนาญการสำรวจและวิจัยคุณภาพดินเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำเครื่องปั้นดินเผาที่กรมวิทยาศาสตร์บริการและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้และอ่านมาก จึงมีความรู้เรื่องดินมากพอสมควร

ขณะที่ทำงานอยู่ที่นี่ก็ได้รับการชักชวนให้มาเป็นผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรมเสถียรภาพที่ตำบลอ้อมน้อย กระทุ่มแบน สมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. 2501 ระยะที่เริ่มตั้งโรงงานเสถียรภาพใหม่ๆ ช่วงนั้นต้องเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ไปส่งซื้อเตาอุโมงค์จากญี่ปุ่นเพื่อมาใช้ในโรงงาน เตาที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเป็นเตาฟืนเปลี่ยนมาเป็นเตาใช้น้ำมันเพราะว่าทางราชการห้ามตัดไม้ กิจการในระยะนั้นดีขึ้นเรื่อยๆมีการขยายโรงงานเพิ่มขึ้น สินค้าที่ผลิตได้แก่ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ถ้วย จาน ชาม ทำมาได้ 8 ปีก็ลาออก

ช่วงเวลาที่เสถียรภาพ ที่จังหวัดลำปางก็มีการทำเซรามิกกันอยู่แล้ว โดยทำถ้วยชามตราไก่ เผาด้วยเตาฟืนไม่ใหญ่ไม่โตมากนัก ทำแข่งกับทางเสถียรภาพ ซึ่งได้รุดหน้าไปมากมีการขยายโรงงานเพิ่มขึ้น ผมได้ลาออกก่อนเมื่อตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2509 ผมมาเปิดกิจการทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์และพลวงรวม 2 ประทานบัตร และขายกิจการไปเมื่อแร่ราคาตกต่ำในปี พ.ศ. 2513

ในปี พ.ศ. 2516 ผมเป็นกรรมการผู้จัดการให้กับบริษัท กรุงสยามเครื่องเคลือบ จำกัด ผลิตเครื่องเคลือบ อิฐทนไฟและวัสดุทนไฟได้เพียง 2 ปีต้องเลิกกิจการไป เนื่องจากเกิดการสไตรค์หยุดงานครั้งใหญ่ในปีเดียวกันที่อ้อมน้อยจนไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้

ชีวิตการทำงานในขณะนั้นล้มแล้วลุกมาโดยตลอด ซึ่งผมก็ไม่ได้หมดกำลังใจ เนื่องจากครอบครัวคอยเป็นกำลังใจผลักดันให้ผมทำงานต่อสู้มาได้จนทุกวันนี้ ผมจึงได้ย้ายครอบครัวไปจังหวัดลำปางเนื่องจากมีที่ดินอยู่ที่นั่น ขณะนั้นมีการทำเซรามิก กันอยู่บ้างแล้วเป็นแบบครัวเรือน ไม่ใหญ่โตมากนัก เผาด้วยเตาฟืน คุณภาพที่ได้ไม่สม่ำเสมอและไม่ดีมากนัก ตอนนั้นการทำเซรามิกต้องใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงในการเผามาก ทำให้ไม้แทบจะหมดป่า จึงคิดว่าน่าจะเปลี่ยนการใช้เพลิงจากไม้มาเป็นการใช้แก๊ส

ในปี พ.ศ. 2517 จึงได้ค้นคว้าออกแบบสร้างเตาเผาเซรามิกที่ใช้แก๊ส LPG เป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้เตาฟืนและเตาน้ำมันเนื่องจากคุณภาพที่ได้จากการเผาโดยใช้แก๊สดีกว่า ซึ่งขณะนี้แก๊สได้กลายเป็นเชื้อเพลิงหลักในการเผาเซรามิกทั่วประเทศ และตั้งโรงงานอินทราเครื่องเคลือบที่จังหวัดลำปาง หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเผาด้วยฟืนมาเป็นแก๊สเมื่อ พ.ศ. 2524 ทำให้โรงงานเซรามิกในจังหวัดลำปางเกิดขึ้นมากมาย สินค้าเริ่มขายดี เป็นที่รู้จักแพร่หลาย “โรงงานอินทราเครื่องเคลือบ” จึงได้เปลี่ยนมาเป็น “บริษัท อินทราเซรามิค จำกัด” เมื่อ พ.ศ. 2531 เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ

ปัจจุบันมีคนงานประมาณ 350 คน ผลิตเพื่อการส่งออกและขายในประเทศ สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นของขวัญ ของที่ระลึก แก้วเซรามิค และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เป็นต้น จัดได้ว่าเป็นโรงงานทำเซรามิกที่ใหญ่เมื่อปีที่แล้วเป็นเตาไฟเบอร์ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถลดเชื้อเพลิงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ปัจจุบันเตาอิฐที่ใช้อยู่นี้กำลังค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นเตาไฟเบอร์ทั้งหมด ซึ่งจะต้องค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง